วันศุกร์, ธันวาคม 20, 2024
ข่าวด่วนพัทยาสังคม

ประชุมเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมพัทยา 

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563​ ณ​ ห้องทัพพระยา​ ศาลาว่าการเมืองพัทยา พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นประธานประชุมรับฟังการบรรยายการนำเสนอแผนการดำเนินการโครงการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเมืองพัทยา โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้การต้อนรับประธานประชุมฯพร้อมคณะฯ ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ พล.ต.ท. บุญเรือง ผลพานิชย์ พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ พ.ต.อ.สันติ พนาวงศ์ ผศ.ดร.กังวาน ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ ในการเดินทางมาดูระบบน้ำ และศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันตะวันออก

ในฐานะที่เมืองพัทยาเป็นเมืองหลักของ EEC ของภาคตะวันออก ที่มีการรองรับการเจริญเติบโต และพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีรองนายกเมืองพัทยา ที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการนายกเมืองพัทยา รองปลัดเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับครั้งนี้ ณ ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา

พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก มีภารกิจพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ปัญหาแนวทางในการบริหารจัดการลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารจัดการของหน่วยงานต่างๆ ประสบผลสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อประชาชนและประเทศชาติ และเพื่อรับทราบปัญหาการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่เขตภาคตะวันออก หรือ EEC โดยวันนี้ได้รับฟังการบรรยายสรุปแผนดำเนินการโครงการระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเมืองพัทยา เนื่องด้วยปัญหาของฤดูฝนที่ขาดช่วง เกิดปัญหาของแอ่งน้ำมีปริมาณน้ำเก็บกักไม่เพียงพอต่อการใช้สอย ดังนั้นเมืองพัทยาจึงได้ชี้แจงถึงการดำเนินโครงการก่อสร้างที่เมืองพัทยากำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม บริเวณรอบนอกของเมืองพัทยา ซึ่งได้แก่โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก (ระยะที่ 1-2) การก่อสร้างสถานีสูบป้องกันน้ำท่วมบ้านเขาตาโล (Sump4/2) พร้อมท่อระบายน้ำ โดยโครงการเหล่านี้จะเป็นการรวบรวมน้ำและระบายลงคลองกระทิงลาย คลองนาเกลือ และคลองห้วยใหญ่ ซึ่งโดยปกติน้ำในคลองเหล่านี้จะระบายลงสู่ทะเล ก็อาจใช้วิธีผันน้ำกลับไปยังอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน นอกจากนั้นปริมาณน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดของเมืองพัทยาและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานมีปริมาณประมาณ 1 แสน ลบ.ม.ต่อวัน และปล่อยสู่ลำคลองตามธรรมชาติ น้ำเหล่านี้ก็อาจสามารถผันกลับไปยังอ่างเก็บน้ำได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาอุปโภค บริโภค เพื่อลดภาระการนำน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นด้วย

ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออก ชื่นชมแผนการดำเนินงานโครงการต่างๆ และเชื่อมั่นในศักยภาพของเมืองพัทยาต่อแผนแนวทางการนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์และการผลิตน้ำจืด ทั้งนี้ทางคณะฯ จะรวบรวมแผนการดำเนินโครงการต่างๆ ของเมืองพัทยา เพื่อนำเสนอในที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเพื่อทราบแนวทางปฏิบัติแก้ไขปัญหาในภาพรวมทั้งหมดของพื้นที่ภาคตะวันออก หรือ พื้นที่เชื่อมโยง EEC ต่อไป…..