วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
ข่าวด่วน

“สนธยา” จัดใหญ่ร่วมกรมโยธาธิการฯ ทำแผนแม่บทแก้ปัญหาน้ำท่วม

“สนธยา” จัดใหญ่ร่วมกรมโยธาธิการฯ ทำแผนแม่บทตั้งงบ 2.5 หมื่นล้าน แก้ปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่องหวังแก้ไขปัญหาภายได้ใน 5-7 ปี ระบุใช้งบแค่ 10 % ของรายได้พัทยาแต่แก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จรองรับ 10 ปี หวังผลสัมฤทธิ์ดันพัทยาเป็นศูนย์กลาง EEC


“เมืองพัทยา” เมืองท่องเที่ยวระดับโลกที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศกว่าปีละ 2.3 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 10 กว่าล้านคน มิหนซ้ำรัฐบาลยังมีแผนผลักดันให้เป็นเมืองศูนย์กลางทาง การท่องเที่ยว และการลงทุน ตามแผนโครงการเศรษฐกิจระเบียงภาคตะวันออก หรือ EEC แต่จากความเติบโตที่รวดเร็ว โรงแรม ที่พัก อสังหาริมทรัพย์ และสถานประกอบการที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ทำให้ปัญหาหลายอย่างไม่สามารถรองรับได้ทัน ทั้งระบบสาธารณูปโภค รวมถึงปัญหาการจราจร และที่สำคัญคือ ปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วมขัง จนหลายคนพูดว่า “ฝนตกที่ไรพัทยาท่วมทุกครั้ง” นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาเรื้อรังหลายยุคหลายสมัย และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะระบบระบายน้ำของเมืองพัทยานั้นใช้งานมานานหลายลิบปีมีขนาดเล็กไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลได้ รวมทั้งน้ำจำนวนมากที่ไหลบ่าจากฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าเมืองพัทยาตั้งแต่ 20-40 เมตร ภาพของน้ำท่วมขังบนถนนสายหลัก ทั้งสุขุมวิท พัทยาเหนือ กลาง ใต้ ถนนสายชายหาด และการไหลบ่าของน้ำลงสู่ชายหาดจึงเป็นปัญหาที่หลีก เลี่ยงไม่ได้


ล่าสุด นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ซึ่งเข้าประชุมร่วมกับนายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ตัวแทน บจก.วอร์เตอร์ดีเวลลอปเมนต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่จากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือเพื่อวางแนวทางการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง (ระบบระบายน้ำปฐมภูมิ/Primary drainage system) อย่างเป็นทางการ

โดย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่าได้รับมอบหมายให้ร่วมกับเมืองพัทยาในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง จึงได้มอบหมายให้ทาง บจก.วอร์เตอร์ดีเวลลอปเมนต์ เข้ามาทำการศึกษาและวางแผนแม่บทแบบ “ปฐมภูมิ” ซึ่งถือเป็นแผนที่จะแก้ไขปัญหาในการผลักดันน้ำลงสู่แหล่งธรรมชาติ ด้วยระบบขนาดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมทางกรมโยธาธิการจะออก แบบไว้สำหรับรองรับน้ำให้ได้ในปริมาณ 5-10 ปี แต่สำหรับเมืองพัทยามีการออกแบบที่จะสามารถรองรับน้ำได้ถึง 10 ปี หรือปริมาณน้ำกว่า 128 มม./วัน ซึ่งมากกว่าเดิมหลายเท่า เนื่องจากมองว่าเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญและรัฐเองก็มีแผนให้เมืองพัทยาเป็นเมืองศูนยก์กลางทางการท่องเที่ยวและการลงทุนของโครงการ EEC ด้วย ขณะที่ระบบระบายน้ำของเมืองพัทยาเองนั้นคงจะต้องมีการปรับปรุงระบบท่อเพื่อเชื่อมต่อกับระบบในโครงการแผนแม่บทหลักที่จะมีการจัดทำอุโมงค์ขนาดใหญ่เพื่อรับน้ำลงสู่แหล่งธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการในจุดเสี่ยงและจุดสันปันน้ำที่มีปริมาณน้ำมากสูงและไหลบ่ารุนแรง โดยเฉพาะจากพื้นที่ข้างเคียง ทั้งในส่วนของเทศบาลหนองปรือ โป่ง หนองปลาไหล และห้วยใหญ่ ซึ่งขณะนี้แบแปลนได้มีการออกแบบจนแล้วเสร็จแล้ว เพียงแต่รอการนำเสนอและระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อสรุปก่อนเสนอขอจัดสรรงบประมาณต่อไป

ด้านนายชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล ที่ปรึกษาโครงการระบุว่าโครงการนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่า จ้างให้เข้ามาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบรายละเอียดระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัท ยาและพื้นที่ต่อเนื่อง ในระยะเวลาดำเนินการ 540 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2561ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ซึ่งได้ดำเนินการออกแบบไว้เรียบร้อยแล้ว โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน คือ เมืองพัทยา พื้นที่ลุ่มน้ำเกลือ กระทิงราย และพื้นที่ห้วยใหญ่ โดยการจัดทำอุโมงค์น้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 5 เมตรรองรับน้ำในจุดที่มีปัญหาเพื่อต่อเชื่อลงสู่ระบบคลองธรรมชาติ หรือปล่อยลงสู่ทะเล โดยทำควบคู่ไปกับระบบท่อเดิมของเมืองพัทยาที่จะต้องมีการพัฒนาและต่อเชื่อมเข้ากับระบบอุโมงค์หลัก เพื่อให้น้ำไหลได้โดยสะดวกและลดปัญหาการน้ำท่วมอย่างถาวร ทั้งนี้ในช่วงการดำเนินการขอจัดสรรงบ ประมาณขอการจัดทำนั้นคงจะใช้เวลาหลายปี ซึ่งช่วงนี้เมืองพัทยาต้องเร่งรัดในการแก้ไขปัญหาด้วยการดักน้ำที่ไหลบ่าจากฝั่งตะวันออกเข้าสู่เมืองพัทยาบริเวณถนนเลียบทางรถไฟ ซึ่งพบว่าจุดเหล่านี้ เช่น ซอยเขาน้อย เขาตาโล ซอยเนินพลับหวาน หรืออื่นๆมีระดับความสูงกว่าเมืองพัทยาถึง 20 เมตร ส่วนสันปันน้ำสูงสุดด้านบนจะมีระดับความสูงกว่าถึง 40-50 เมตร จึงทำให้เมื่อเกิดปัญหาฝนตกน้ำเหล่านี้จะหลากลงสู่เมืองพัทยาอย่างรวด เร็วด้วยจำนวนมหาศาล จนทำให้ระบบระบายน้ำของเมืองพัทยาไม่สามารถรองรับได้ทัน
ด้านนาสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เปิดเผยว่าสำหรับโครงการตามแผนแม่บทที่กรมโยธาธิการได้ว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษา วางแผน และออกแบบระบบเพื่อให้ความความสมบูรณ์ในการแก้ไขปัญหานั้น ได้มีการประชุมร่วมเพื่อหาข้อมูลที่ละเอียดและแก้ไขปัญหาได้จริงมาแล้วหลายครั้งจนได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ สำหรับพื้นที่เมืองพัทยาเองแบ่งสันปันน้ำหลักออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา ครอบคลุมพื้นที่ 43.78 ตร.กม.ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หนาแน่น 2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ-ห้วยมาบประชัน และกลุ่มน้ำย่อยคลองกระทิงราย ครอบคลุมพื้นที่ 118.63 ตร.กม.ซึ่งมีความหนาแน่นปานกลาง และ 2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 64.06 ตร.กม.ซึ่งยังมีความหนาแน่นน้อย แต่ทั้ง 3 ส่วนถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญที่ส่งปัญหาให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลากรุนแรง โดยแม้ว่าแผนจะผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว แต่ในช่วงดำเนินการ เมืองพัทยาจะดำเนินการจัดทำแผนเร่งด่วนในการกันน้ำหลากเข้าสู่เมืองพัทยา ในงบประมาณ 665 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมประกาศ จัดซื้อจัดจ้างแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จให้ทันภายในเดือนกันยายนปี 2562
สำหรับแผนแม่บทระบบระบายน้ำหลักจะออกแบบไว้เพื่อรองรับน้ำหลากที่เกิดจากฝนที่มีแผนรองรับปริมาณที่เพิ่มขึ้นได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือประมาณ 128 มม./วัน โดยระบบดังกล่าวจะประกอบไปด้วย คลองระบายน้ำหลัก คูระบายน้ำริมทางรถไฟสายตะวันออก ท่อรวบรวมและขนส่งน้ำ ท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง ท่อส่งแรงดันน้ำพร้อมสถานีสูบ รวมความยาวกว่า 316 กม.ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณลงทุนกว่า 25,265 ล้านบาท


โดยจะมีการแบ่งแผนดำเนินการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเรื่อง มีงบลงทุนกว่า 16,420 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.งานปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบบน้ำปัจจุบันของพื้นที่การระบายน้ำส่วนที่อยู่เหนือถนนเลียบทางรถไฟฝั่งตะวันออก ละการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างอุโมงค์น้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เมตรตามจุดแลละพื้นที่เสี่ยงทั้งส่วนของเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมต่อ โดยเฉพาะ การรวบรวมน้ำจากถนนสุขุมวิทจุดพัทยาใต้ซึ่งเกิดปัญหาต่อเนื่อง โดยการผันน้ำเข้าสู่ระบบอุโมงค์และลงน้ำลงสู่คลองสาธารณะพัทยาใต้เพื่อปล่อยลงสู่ทะเล รวมทั้งการจัดทำอุโมงค์เพื่อรองรับน้ำบริเวณถนนเทพประสิทธิ์ และแยกสาย 3 มุมอร่อยที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ 2.การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและชุมชน ระหว่างคลองกระทิงรายและถนนพัทยาเหนือ โดยจะมีการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อผันน้ำลงสู่คลองธรรมชาติอย่าง คลองนาเกลือ –คอลงกระทิงราย ซึ่งจะใช้งบลงทุนส่วนนี้กว่า 7,137 ล้านบาท 3.แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ชุมชนต่อเนื่อง ในพื้นที่เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ และนาจอมเทียน โดยการผันน้ำด้วยระบบที่จะจัดสร้างลงสู้คลองห้วยใหญ่เพื่อตัดปริมาณน้ำที่จะไหลบ่าเข้าสู่เมืองพัทยา ขณะที่หลายส่วนวิตกกังวลเรื่องของระบบระบายน้ำเดิมเมืองพัทยาที่ไม่ได้จัดทำท่อระบายน้ำแยกระหว่างน้ำดีกับน้ำเสียนั้น กรณีดังกล่าวทางแผนแม่บทได้วางแผนไว้แล้วโดยการจัดทำสถานีระบายน้ำแบบอาคารอกเป็นจุดหลักในหลายจุด โดยจะรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์โดยจะเป็นน้ำที่ล้นจากระบบของเมืองพัทยาหรือ Overflow ซึ่งจากการคำนวณแล้วจะมีปริมาณน้ำดีมากกว่าน้ำเสียถึง 5 เท่า หรือมีค่า BOD เพียง 10 มก./ลบ.ม.เท่านั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
นายสนธยา กล่าวต่อไปว่าอย่างไรก็ตามสำหรับแผนแม่บทที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางไว้ คือมีการจัดทำอุโมงค์น้ำขนาดใหญ่บริเวณสันปันน้ำและจุดท่วมขังหลักเพื่อรำบายน้ำในปริมาณมากให้เข้าสู่ระบบ โดยจะมีการทำควบคู่ไปกับการพัฒนาท่อระบายน้ำเดิมของเมืองพัทยาที่ใช้มาเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีขนาดท่อที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 ซม.เท่านั้นจึงไมเพียงพอต่อการรับมวลน้ำที่ไหลบ่าและตกลงมาในพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งโครงการเพื่อขยายขนาดท่อให้มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นขนาด 1.5-3 เมตรเท่านั้น รวมถึงการต่อท่อเชื่อมเข้ากับระบบอุโมงค์น้ำของกรมโยธาธิกรฯ ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำลดปัญหาการท่วมขังและมีการระ บายที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามแผนแม่บทนี้อาจต้องใช้เวลา 5-7 ปี จึงจะดำเนินการแล้วเสร็จ โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็นระบบ (Fase) เนื่องจากใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่ทุกาภคส่วนมีความเห็นชอบแล้วทางกรมโยธาธิการฯก็จะนำแผนดังกล่าวไปเสนอต่อสำหนักงานนโยบายและแผนกระทรวงมหาดไทย ก่อนผลักดันเข้าสู่บอร์ด EEC เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องที่เมืองพัทยาต้องเข้าไปร่วมมีส่วนในการผลักดันด้วย
นายสนธยา กล่าวทิ้งท้ายว่าสำหรับเมืองพัทยาตามยุทธศาสตร์ของโครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC นั้นได้กำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านการท่องเที่ยว และการลงทุน จึงมีความ สำคัญต้องพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบในด้านต่างๆ จึงมีความพยายามในการวางแผน ศึกษา และออกแบบเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็น Final ที่จะส่งแผนเข้าสู่ขั้นตอนการขออนุมัติและพิจารณางบประมาณมาดำเนินการ โดยหากมองแล้วว่าใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากแต่ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็น และงบประมาณที่ใช้หากเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาที่เฉลี่ยกว่าปีละ 2.3 แสนล้านบาทนั้น รัฐจะใช้งบเพื่อมาลงทุนในการแก้ไขเพียง 10 % เท่านั้น หรือประมาณ 1 % เมื่อผ่านระยะเวลาไป 10 ปี ซึ่งมั่นใจว่าแผนแม่บทนี้จะมีความสมบูรณ์และแก้ไขปัญหาได้อย่างปลอดภัยแน่นอน…