พัทยาได้เฮ ! นายกฯ ประชุม ศบค. เห็นชอบปรับพื้นที่สีเขียว ทั่วประเทศ สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง เปิดให้บริการตามกฎหมายกำหนด นายกพัทยาผลักดันขยายเวลาให้บริการ
พัทยาได้เฮ ! นายกฯ ประชุม ศบค. เห็นชอบปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ สธ. แนะให้สวมหน้ากากอนามัยในกลุ่ม 608 และในพื้นที่แออัด สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง เปิดให้บริการตามกฎหมายกำหนด นายกพัทยาผลักดันขยายเวลาให้บริการ
วันนี้ (17 มิถุนายน 2565) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 9/2565 ย้ำมาตรการ Universal Vaccination เร่งรัดฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เพื่อการเข้าสู่โรคประจำถิ่น เห็นชอบปรับพื้นที่สีเขียว 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแนะให้สวมหน้ากากอนามัยในกลุ่ม 608 และในพื้นที่แออัด
โดยนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ได้เสนอผลักดันพิจารณาเห็นชอบเปิดสถานบันเทิงได้ตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแนะนำและต้อนรับนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทยาที่เข้าร่วมประชุม ศบค. เป็นครั้งแรก พร้อมกล่าวว่าการประชุม ศบค. วันนี้ถือเป็นการประชุมที่พร้อมเพรียงกันทั้งหมด โดยวันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศดีขึ้นตามลำดับ จากตัวชี้วัดคือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำแต่ก็ยังไม่น่าพอใจ จนกว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งได้พยายามกวดขันในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะมาตรการเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่จะต้องเป็นไปตามที่ประมาณการไว้คือ 60% ขึ้นไป ซึ่งขอให้เร่งรัดดำเนินการให้มากยิ่งขึ้น โดยขอฝากกระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาด้วย อย่างไรก็ตาม ได้มีการผ่อนคลายมาตรการให้หลายพื้นที่สามารถดำเนินกิจการ กิจกรรมได้มากขึ้น ขอย้ำเตือนให้ทุกคนยังคงต้องดูแลตนเอง ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุข 2U (Universal Prevention และ Universal Vaccination) อย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การจะเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น หนึ่งในมาตรการที่สำคัญที่จะต้องทำให้ได้ตามเป้าหมาย คือ Universal Vaccination ประชาชนจะต้องได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม โดย กทม. และทุกจังหวัดต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 แต่ขณะนี้หลายพื้นที่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด จากข้อมูลที่ได้รับรายงาน จึงต้องเร่งสื่อสารให้ประชาชนทราบข้อมูลที่เป็นเชิงวิชาการว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 4-6 เดือน ภูมิคุ้มกันจะลดลง การฉีดเข็มกระตุ้นจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ ลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งสำรวจพื้นที่ที่ยังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่ำกว่าเป้าหมาย และดำเนินการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นได้อย่างทั่วถึง สะดวก และง่ายที่สุด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิ-19 ไปสู่โรคประจำถิ่น
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง รวมถึง ผู้จัดงาน/จัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะดำเนินการโดยภาครัฐหรือภาคเอกชน ประชาชน ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ จะต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น หรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมและสามารถรับมือได้ทันท่วงที ทั้งนี้ การบริหารจัดการสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของ ศบค. ได้ดำเนินการมาอย่างเป็นขั้นตอน มีการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบจากศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ได้ร่วมกันวิเคราะห์กลั่นกรอง โดยได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอ ศบค. ในการอนุมัติกำหนดมาตรการ และการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน การเดินหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ขอขอบคุณในช่วงที่ผ่านมารวมถึงระยะต่อไปที่ทุกฝ่ายจะร่วมมือกัน จนทำให้สามารถผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด และเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้คาดการณ์ไว้ในการเข้าสู่โรคประจำถิ่น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำให้มีการใช้จ่ายงบประมาณที่สนับสนุนในเรื่องของโควิด-19 ทั้งจากงบกลางและงบเงินกู้ อย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ จึงขอให้พิจารณาปรับลดในสิ่งที่ไม่จำเป็น ให้ใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพ
สำหรับมติ ที่ประชุม ศบค. ที่สำคัญมีดังนี้ศบค. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร พร้อมเห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ มีผลนับตั้งแต่ประกาศราชกิจจานุเบกษา/มีผลได้ทันที ดังนี้
1) พื้นที่สถานการณ์ ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ ยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
2) มาตรการการใส่หน้ากาก ควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด
หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก
3) การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหารในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4) สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด
5) การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ
6) การคัดกรองอุณหภมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรอง
อุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)
7) การเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่
โรค
8) มาตรการการรวมกลุ่ม ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ
หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคกก.โรคติดต่อจ./กทม.ทราบ เพื่อเฝ้าระวังการระบาด
ศบค. เห็นชอบข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
1) การยกเว้นการลงทะเบียน Thailand Pass หรือ CoE ของคนต่างชาติ โดยขอให้สำแดงเอกสารวัคซีนหรือผลการตรวจหาเชื้อแบบต่าง ๆ โดยให้มีการสุ่มตรวจเอกสาร ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
2) ยกเลิกมาตรการคัดกรองอุณหภูมิ ณ ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ
3) ยกเลิกการกำหนดเงินประกัน (ส่งเสริมการซื้อประกัน)
ศบค. เห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-pandemic ดังนี้
- สำหรับประชาชนกลุ่มเฉพาะ • กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น • ผู้ติดเชื้อ /ผู้สัมผัส เสี่ยงสูง ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น
- สำหรับประชาชนทั่วไป / ผู้ใช้บริการ
1) สถานที่ภายนอกอาคาร ที่โล่งแจ้ง ให้สวมหน้ากาก เมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น โดยไม่สามารถเว้นระยะห่าง มีความแออัด มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก หรือ มีการระบายอากาศไม่ดี เช่น ขนส่งสาธารณะ ตลาด สนามกีฬาหรือสถานที่แสดงดนตรีที่มีผู้ชม ฯลฯ
2) สถานที่ภายในอาคาร ให้สวมหน้ากาก โดยสามารถถอดหน้ากาก กรณี • อยู่คนเดียว • หากอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่พำนักเดียวกันต้องสามารถเว้นระยะห่างได้ ไม่รวมกลุ่มแออัด และอยู่ในที่ระบายอากาศได้ดี • มีกิจกรรมที่จำเป็นต้องถอดหน้ากาก เช่น รับประทานอาหาร ออกกำลังกาย บริการบริเวณใบหน้าศิลปะการแสดง ฯลฯ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เมื่อกิจกรรมนั้นเสร็จสิ้น ควรสวมหน้ากากทันที
ทั้งนี้ มาตรการที่ ศบค. เห็นชอบในวันนี้ จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำรายละเอียดออกเป็นข้อกำหนดประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณในการทำงานร่วมกันและชื่นชมในสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังและขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมให้ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ประชุมปรึกษากันเพื่อเป็นทางออกให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองและผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการเห็นภาพของการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ และนำประชาชนไปสู่อนาคตที่ดี แสดงให้เห็นศักยภาพของประเทศไทยที่จะมีความพร้อมในการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เกิดความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุข รวมถึงการค้าการลงทุน และด้านอื่น ๆ ที่จะตามมาด้วย……