โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (ตอนที่ 8)บทสรุปของการพัฒนาโครงการท่าเรือสำราญ
บทสรุปของการพัฒนาโครงการท่าเรือสำราญ
การพัฒนาท่าเรือสำราญจะต้องมีรูปแบบที่ทันสมัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อีกทั้งยังต้องมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงสำหรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญตามมาตรฐานในระดับสากล เนื่องจากบริบทของเมืองพัทยาเป็นแหล่งดึงดูดผู้คนให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศ รวมทั้งวิถีชีวิต ผู้คนท้องถิ่น ผู้คนนานาชาติ เส้นทางการเดินเรือ เมืองท่องเที่ยวเลียบชายทะเล และวัฒนธรรมพื้นถิ่น จึงทำให้เกิดแนวคิดในการออกแบบ “SEA > SAND > LAND”
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือสำราญบริเวณเมืองพัทยาจะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สร้างความสะดวกสบาย และความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว เนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีท่าเรือ และอาคารที่พักผู้โดยสาร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาการขนส่งสิ่งอำนวยความสะดวกให้เชื่อมโยงกับการเดินทางระบบสาธารณูปโภค และถนนหนทางให้มีความสะดวกรวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับการคมนาคมขนส่งจากท่าเรือไปสถานที่ท่องเที่ยว หรือร้านอาหาร รวมทั้งการเดินทางจากสนามบินไปท่าเรือหลัก (Home Port) เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว
ลดความสูญเสียเวลาบนท้องถนน และเพิ่มเวลาในการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น
เมื่อพิจารณาความเชื่อมโยงทางน้ำได้มีการออกแบบท่าเรือ Speed boat และท่าเรือ Ferry เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างสะดวกสบาย สำหรับทางบกได้มีการสร้างถนนยกระดับ เพื่อให้สามารถเดินทางเข้าท่าเรือได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว รวมทั้งมีการบริการรถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถบัส เพื่อเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดชลบุรี อาทิ
สวนนงนุช ปราสาทสัจธรรม และตลาดน้ำ 4 ภาค เป็นต้น นอกจากนี้บริเวณท่าเรืออยู่ในพื้นที่ของแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร และนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดโพธิ์ หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดไตรมิตร เป็นต้น
สำหรับผลประโยชน์ของโครงการหากมีการพัฒนาท่าเรือสำราญจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล อาทิ การเก็บค่าธรรมเนียมจากการเทียบท่าของเรือ และค่าธรรมเนียมผ่านท่า การสร้างรายได้ให้กับแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น
ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาท่าเรือสำราญในบริเวณพื้นที่พัทยา เพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศ และสนับสนุนการกระจายเม็ดเงินไปสู่ผู้คนท้องถิ่น ตลอดจนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวโดยเรือสำราญในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป