นายกเมืองพัทยาร่วมกล่าวต้อนรับผู้แทนจาก 75 ประเทศ สมาชิก ITTO ในประชุมสภาองค์การไม้เขตร้อน ครั้งที่ 59
(13 พ.ย.66) เวลา 09.00 น. นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ร่วมกล่าวต้อนรับผู้แทนจาก 75 ประเทศสมาชิก ITTO ในการประชุมสภาองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 59 (59 Session of the International Tropical Timber Council: ITTO59) ณ โรงแรมดุสิตธานีพัทยา ร่วมด้วยนายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานในพิธี
ด้วยกรมป่าไม้ กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมสภาองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 59 (59 Session of the International Tropical Timber Council: ITTO59) ระหว่างวันที่ 13 – 17 พฤศจิกายน 2556 โดยเลือกเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นสถานที่จัดการประชุม ด้วยมีศักยภาพความพร้อมในการจัดการประชุมระดับนานาชาติ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การไม้เขตร้อนระหว่างประเทศ (International Tropical Timber Organization) กว่า 75 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาการผลิตและการค้าไม้เขตร้อนอย่างยั่งยืน
โดยกำหนดกรอบการทำงานเพื่อให้การดำเนินงานและการพัฒนานโยบายระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไม้ของโลกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ จาก ITTO มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การสำรวจทรัพยากรป่าไม้, โครงการฟื้นฟูด้านป่าไม้ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ, โครงการจัดการผืนป่าอนุรักษ์สามเหลี่ยมมรกต เพื่อการส่งเสริมความร่วมมือในการอนุรักษ์ความหลากลายทางชีวภาพข้ามเขตแดนระหว่างประเทศไทย กัมพูชา และลาว, โครงการพัฒนาเกณฑ์และตัวชี้วัดการจัดการสวนป่าและป่าชุมชนอย่างยั่งยืน, โครงการไม้สัก เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และการจัดการที่ยั่งยืนของป่าไม้สักและห่วงโซ่อุปทานไม้ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และโครงการส่งเสริมการผลิตไม้ที่มีคุณภาพโดยเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกไม้สักและไม้มีค่าชนิดอื่นๆ ในเขตร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากการประชุมฯ แล้ว กรมป่าไม้ยังได้กำหนดให้มีการศึกษาดูงาน ที่ครอบคลุมห่วงโซ่อุปทานของไม้ ซึ่งครอบคลุมระบบรับประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ไทย ครอบคลุมการจัดการสวนป่าระบบควบคุมการเคลื่อนย้ายของสินค้าไม้ (Chain of Custody: CoC) ด่านป่าไม้ และการนำเข้า – ส่งออก ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของไทย ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นการสร้างความร่วมมือด้านการป่าไม้ระหว่างประเทศ ในระดับภูมิภาค สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ BCG Model ต่อไป……