วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
ข่าวด่วนพัทยาสังคม

เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาฯ รถไฟฟ้า

“กฤษณ์ จิระมงคล” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดชลบุรี พร้อมตัวแทนภาคเอกชน เข้ารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาฯรถไฟฟ้า

วันนี้ (24พ.ค.63) เวลา 09.00 น. ประธาน ที่ชั้นดาดฟ้าตึก 1 ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายสามชาย ไทยกุล รักษาการผู้อำนวยการส่วนจราจรและขนส่ง ได้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

โดยมี นายกฤษณ์ จิระมงคล เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดชลบุรี และอุปนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา, ตัวแทนศูนย์การค้าเซ็นทรัล พัทยา, ตัวแทนศูนย์การค้าเทอร์มินิล ทเวนตี้วัน พัทยา, หน่วยงานราชการ, เอกชน ผู้นำชุมชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการดังกล่าวฯจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2563 เวลา 08.30-17.00 น. บริเวณลานพื้นที่เปิดโล่ง อาคาร 1 ชั้น 4 ศาลาว่าการเมืองพัทยา โดยจัดประชุมรับฟังความเห็นวันละ 2 รอบ รอบเช้า – รอบบ่าย รอบละ 40 คน รวมทั้งสิ้น 240 คน เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม และป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

เนื่องจากเมืองพัทยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาการจราจรและขนส่งเป็นอันมาก โดยเฉพาะบริเวณกลางเมืองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเมือง พบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรและขนส่งในเมืองพัทยา คือ ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพอเพียง ส่งผลให้มีปริมาณการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาจราจรและการขนส่ง ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเดินทางในเมืองพัทยาให้ครอบคลุมทั้งที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 พบว่าเมืองพัทยามีจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตมากยิ่งขึ้นหากสถานการณ์คลี่คลายลง ดังนั้นจะต้องดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพสูง

เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองและเป็นการป้องกันปัญหาการจราจร การขนส่งในตัวเมืองพัทยาได้ในอนาคต ภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาการขนส่งระบบราง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาค ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลดความต้องการการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล โดยในการดำเนินการดังกล่าวต้องสอดคล้องกับโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

ดังนั้นเมืองพัทยาจึงได้ดำเนินการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อินทิเกรเทด เอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท แพลนโปร จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินงานโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นั้น เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายในเขตพื้นที่เมืองพัทยา และเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบ เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการคมนาคมขนส่ง เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดของโครงการนำร่องของระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพในเส้นทางที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด

นอกจากนี้จะมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งจะต้องดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอดระยะเวลาการศึกษาโครงการ

สำหรับขอบเขตของการดำเนินงาน โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการ รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562 สำหรับในครั้งนี้เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกรูปแบบและโครงสร้างของระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองพัทยา แนวเส้นทางโครงการนำร่องผลการคัดเลือกตำแหน่งที่ตั้งศูนย์ซ่อมบำรุง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งที่เป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้รับประโยชน์ พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นให้มากที่สุด

พร้อมกันนี้จะได้นำเสนอถึงผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมที่จะเกิดจากการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ให้ข้อคิดเห็นถึงประเด็นที่ยังเป็นห่วงหรือวิตกกังวล เพื่อที่จะได้นำไปประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในรายละเอียดต่อไป…..