จับผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพพ่นสีข้อความหมิ่นฯ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ
ตำรวจพัทยาจับผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพพ่นสีข้อความหมิ่นฯ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ ศาลไม่ให้ประกันตัว ชี้เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 ผู้ใช้แอปพลิเคชั่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทวิตเตอร์ อายุ 26 ปี รายหนึ่ง ได้ร้องเรียนกับทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพักในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และได้ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปยัง สภ.เมืองพัทยา ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปขอออกหมายจับจากศาลจังหวัดพัทยาในภายหลัง และแจ้งข้อกล่าวหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุทวิตภาพรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ถูกพ่นสีข้อความไว้ใต้ภาพ ล่าสุดเขาถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำพัทยา เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว อ้างความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 22.44 น. ฝ่ายตรวจสอบโซเชียลงานสืบสวน สภ.เมืองพัทยา ได้ตรวจสอบโซเชียลมีเดีย และพบบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้โพสต์ภาพข้อความที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนได้สืบสวนจนทราบ และได้ติดตามจนพบผู้ก่อเหตุที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา และได้ค้นห้องโดยไม่มีหมายค้น
จากนั้นจึงไปดำเนินการให้ศาลจังหวัดพัทยาออกหมายจับลงวันที่ 17 ต.ค. 63 ที่ 270/2563 แล้วจึงนำหมายจับไปแสดงต่อผู้ก่อเหตุ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว ก่อนนำตัวไปทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองพัทยา ในกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย ผู้ก่อเหตุให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ในคำร้องขอฝากขังลงวันที่ 19 ต.ค. 63 ของ พ.ต.ท.ณัฐวรรธน์ เพลินจิตร พนักงานสอบสวนได้ระบุข้อกล่าวหาในคดีนี้ตามมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา”
คำร้องขอฝากขังระบุด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนทราบว่า ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ได้โพสต์ภาพถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ที่ติดตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางถนนสุขุมวิทแยกพัทยากลาง ที่มีคนใช้สีเปรย์สีดำพ่นอยู่ใต้ฐานรูป เพื่อคอมเมนต์โต้ตอบกับผู้ใช้ทวิตเตอร์รายอื่น ในช่วงเวลา 01.30 น. ของวันที่ 17 ต.ค. 63
ในคำร้องขอฝากขังระบุอีกด้วยว่า ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่คนทั่วไปเห็นแล้ว มีความรู้สึกหรือรับรู้ในลักษณะลดทอนพระเกียรติ หรือไม่เป็นการเทิดทูนพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 อันเป็นการเข้าข่ายลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดต่อกฎหมาย
พนักงานสอบสวนระบุว่าการสอบสวนคดียังไม่เสร็จสิ้น โดยยังต้องสอบพยานอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบพิมพ์มือผู้ต้องหา จึงขออำนาจศาลในการฝากขังระหว่างการสอบสวน กำหนด 12 วัน และยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากเป็นคดีอาญาที่มีอัตราโทษสูง หากให้ประกันตัวเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี และไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ต่อมา ศาลจังหวัดพัทยาได้อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้อง ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอประตัวและยื่นหลักทรัพย์เป็นเงิน 2 แสนบาท ก่อนที่ศาลจังหวัดพัทยาจะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่า พิเคราะห์แล้วความผิดตามคำร้องเกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว จึงให้ยกคำร้อง ทำให้สนธยาต้องถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษพัทยาตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ตามมาตรา 14 (3) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2560 ระบุโทษจําคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ