เมืองพัทยา รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
กรมทะเล จับมือ ศรชล.ภาค 1 และภาคีเครือข่าย พร้อมปฏิบัติการเก็บกู้อวนยักษ์เกาะมารวิชัย เมืองพัทยาเร่งสร้างความตระหนักรู้ ฟื้นฟูแนวปะการัง
จากกรณีที่มีนักท่องเที่ยวไปดำน้ำบริเวณแนวปะการังเกาะมารวิชัย ได้ถ่ายภาพใต้น้ำและเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ว่าพบอวนผืนใหญ่ปกคลุมแนวปะการัง บริเวณเกาะมารวิชัย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ห่างจากฝั่งท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย ประมาณ 10 ไมล์ทะเล ทำให้แนวปะการังได้รับผลกระทบ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงสั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) ตรวจสอบและสำรวจอย่างเร่งด่วน พบว่ามีผืนอวนขนาดใหญ่ เป็นอวนล้อมจับ (อวนดำ) โดยอวนมีขนาด กว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร จำนวน 1 ผืน ปกคลุมแนวปะการังบริเวณทิศใต้ของเกาะมารวิชัย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พื้นที่รวมประมาณ 414 ตารางเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำ ประมาณ 12 เมตร จึงหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้อวนยักษ์ดังกล่าว
วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ทช. พร้อมปฏิบัติการเก็บกู้เครื่องมือประมง พื้นที่เกาะมารวิชัย เมืองพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จัดพิธีปล่อยแถวเรือออกปฏิบัติการ พร้อมเจ้าหน้าที่จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.), ทัพเรือภาคที่ 1, ศรชล.ภาค 1, เมืองพัทยา ตลอดจนเครือข่ายนักดำน้ำอาสาสมัคร รวม 42 นาย โดยมี ลนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา, พลเรือตรี ปภน หาญไพบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 1, นายชายชาญ เตโชทินกร ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี และนายธเนศ มั่นน้อย เลขานุการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นประธาน มอบแนวทางการปฏิบัติงานและให้กำลังใจแก่นักดำน้ำและเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ และเมื่อเก็บกู้อวนแล้วเสร็จจะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษสอบสวนสืบหาผู้กระทำผิดต่อไป
ปัญหาจากเครื่องมือประมงที่กระทบต่อแนวปะการัง เป็นปัญหาที่พบบ่อย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ และพยายามกระตุ้นเตือน สร้างความตระหนักรู้ ให้ผู้ประกอบการ และชาวประมงร่วมมือกัน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เคยกล่าวในหลายเวทีถึงความสำคัญของระบบนิเวศปะการังและการอนุรักษ์ปะการังอย่างยั่งยืน เนื่องจากปะการังเป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหว และเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และการรบกวนจากกิจกรรมมนุษย์ การฟื้นฟูปะการังค่อนข้างยากลำบากและใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะสมบูรณ์เช่นเดิม ซึ่งสาเหตุความเสื่อมโทรมส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งจากการท่องเที่ยวอย่างไม่ระวัง การทิ้งสมอเพื่อจอดเรือ และสาเหตุสำคัญคือการทำประมง ทั้งจากเครื่องมือประมง และเศษอุปกรณ์ที่ตกค้าง หลายครั้งที่ได้ลงดำน้ำ นอกจากเศษถุงและขวดพลาสติก ยังพบเศษอุปกรณ์จากการทำประมง ทั้งเชือกและอวน จึงมอบหมายให้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. สั่งการให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งสำรวจแหล่งปะการังต่างๆ และหามาตรการคุ้มครองและจัดการพื้นที่เหล่านั้น มิให้ถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบ
“อย่าทำการประมงแบบเห็นแก่ตัวบนแนวปะการัง อุปกรณ์ประมงสามารถหาซื้อใหม่เมื่อไหร่ก็ได้
แต่ปะการังและความสมบูรณ์ของท้องทะเลไทยไม่สามารถหาซื้อที่ไหนมาทดแทนได้อีก” นายวราวุธ กล่าว
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า การดูแลแหล่งปะการังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ นักดำน้ำผู้มีประสบการณ์สูง และที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือและความใส่ใจจากพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคน โดยตนได้เร่งรัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งปะการังที่สมบูรณ์ โดยล่าสุดมีการประกาศคำสั่งคุ้มครองทรัพยากรปะการังในบริเวณพื้นที่กองหินใต้น้ำใน 6 จังหวัด 21 พื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้จนถึงปี 2569 ตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาตามกระบวนการกฎหมาย แต่หากมีความจำเป็นต้องประกาศเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อป้องกันความเสียหายต่อทรัพยากร สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้เลย สิ่งใดที่เราสามารถดำเนินการได้ เราต้องทำทันที ตนได้สั่งการให้สำรวจพื้นที่แหล่งปะการังอื่นเพิ่มเติม และหากจำเป็นต้องประกาศเพิ่มก็ให้เร่งดำเนินการทันที
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดี ทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ทช. ได้ดำเนินการดูแลแหล่งปะการังมาโดยตลอด ทั้งปลูกฝังจิตสำนึก มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน กลุ่มชาวประมง ตลอดจนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว อย่างเกาะมารวิชัยนี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากชายฝั่ง ทำให้มีน้ำทะเลใสหาดทรายสวยสะอาด เป็นอีกหนึ่งแห่งที่มีทรัพยากรปะการัง ใต้ผืนน้ำรอบๆ เกาะมีปะการังและสัตว์ทะเลหลากหลายที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีนักดำน้ำ (แบบ scuba diving) ไปดำน้ำชมความงามอยู่เสมอๆ ซึ่งตามนโยบายและปณิธานของ รมว.ทส. นั้นกำชับว่าต้องมีมาตรการในการกำกับ ควบคุม คุ้มครอง และจัดการพื้นที่แหล่งปะการังอย่างยั่งยืน หากเป็นไปได้แหล่งปะการังทุกตารางนิ้วของประเทศไทยต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ทช. จึงใช้กฎหมายเข้ามาเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองทรัพยากรเหล่านี้ ร่วมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการทำการประมงพาณิชย์ และได้เร่งรัดการประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำกับและดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ “การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ การปรับพฤติกรรม และการทำกิจกรรมของเราให้มีความรับผิดชอบต่อทรัพยากร เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติสืบไป” อธิบดี ทช. กล่าวทิ้งท้าย…..