วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
ชลบุรีพัทยา

จ่อไฟเขียว เฮผับบาร์ตี 2 ทั้งประเทศ ประเมินทุก 10 วัน แล้วค่อยฟันธง

สธ.ปลื้ม 6 วันเปิดผับบาร์ในพื้นที่สีเขียว-สีฟ้าฉลุย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ไม่พุ่งมาก แต่ขอรอดูอีก 2 สัปดาห์ ส่วนยอดผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันต่ำกว่า 30 ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นวัย 70 ปีขึ้นไป-ไม่ได้ฉีดวัคซีน ด้านผู้ว่าฯ กทม. เอาแน่ ถอดหน้ากากอนามัยหลังสถานการณ์โควิดเมืองกรุงดีขึ้น แต่รอ ศบค.กทม.พิจารณาแล้วเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ ขณะที่ “อนุทิน-เลขาฯ สมช.” ประสานเสียงปราม เสนอตามใจชอบไม่ได้ ต้องทำเป็นขั้นตอน รวมถึงการขยายเวลาเปิดผับบาร์ มีโรดแม็ปประชุมทุก 10 วัน หากสถานการณ์ดีเล็งปรับพื้นที่เป็นสีเขียวทั้งประเทศ

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,162 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,159 คน จากเรือนจำ 1 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,879 คน อยู่ระหว่างรักษา 29,509 คน อาการหนัก 761 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 375 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 27 คน อายุ 47-92 ปี เป็นชาย 13 คน หญิง 14 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 20 คน มีโรคเรื้อรัง 6 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 คน ทำให้ตั้งแต่ปี 2563 ไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 4,468,955 คน หายป่วยสะสม 4,409,248 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 30,198 ศพ ขณะที่เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.จัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้เพิ่ม 30,801 โดส รวมยอดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 จำนวน 138,174,444 โดส

 

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) เปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยว่า ผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้เสียชีวิต แนวโน้มลดลง และหลังวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่อนคลายให้เปิดผับบาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง ยังไม่พบแนวโน้มการติดเชื้อจากสถานบันเทิงมากขึ้น ยังต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ จึงจะบอกได้ชัดเจนว่าการเปิดสถานบันเทิงไม่มีผลกระทบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อหรือไม่ ขณะที่ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 20-30 รายต่อวัน ปัจจัยสำคัญเป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรค 7 โรคเรื้อรัง และส่วนใหญ่ไม่รับวัคซีน รวมถึงเข็มกระตุ้น ที่ประชุมอีโอซี สธ.จึงได้เร่งรัดให้มีการฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้วร้อยละ 81.7 หรือ 56 ล้านโดส เข็ม 2 ฉีดไปร้อยละ 75.9 หรือ 52 ล้านโดส และเข็ม 3 ฉีดไปร้อยละ 41 หรือ 28 ล้านโดส ตามเป้าหมายการเป็นโรคประจำถิ่นต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมร้อยละ 60 ต้องเร่งรัดฉีดอีก 15-20 ล้านโดส โดยเฉพาะในชนบทห่างไกลยังฉีดน้อย ยิ่งเข็มกระตุ้นยังฉีดน้อยมาก บางพื้นที่ฉีดไม่ถึงร้อยละ 10 ต้องเร่งรณรงค์

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สธ.และ ศบค.จัดหาวัคซีนโควิด ผ่านคณะกรรมการหลายชุด และ ศบค.เป็นผู้อนุมัติสุดท้าย แผนของปี 2564 จัดซื้อทั้งหมด 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส แผนปี 2565 จัดซื้อ 120 ล้านโดส มีการอนุมัติจาก ศบค.และลงนามซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบ 36 ล้านโดส ฉีดแล้ว 34 ล้านโดส ทั้งนี้ วัคซีนส่วนหนึ่ง ได้มาจากการบริจาค เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และโคโวแว็กซ์ รวมทั้งหมด 13 ล้านโดส ขณะเดียวกันไทยเริ่มบริจาคให้ประเทศขาดแคลน เช่น ประเทศแถบแอฟริกา ส่วนการต้องฉีดทุกปีเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัด แต่เรามีแผนเตรียมการแล้ว เช่นปี 2565 ที่จัดซื้อ 120 ล้านโดส ตอนนี้นำเข้ามา 36 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจะสำรองไว้ปีหน้า หรือเพื่อฉีดเป็นเข็มกระตุ้นทุกปี ส่วนกรณีฝีดาษลิง วัคซีนที่ใช้ ได้มีเพียงวัคซีนฝีดาษคน ที่ไทยมีในคลังขององค์การเภสัชกรรม แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีน

 

ตั้งข้อสังเกตเรื่องการส่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน มากจนล้นตู้เก็บว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย แต่ใครทักท้วงอะไรมาเราก็รับฟัง ถ้าทักมาด้วยเจตนาที่ดีเราก็พร้อมที่จะพัฒนา แก้ไข แต่หากทักมาด้วยเจตนาที่ขอแค่ได้ทัก ได้พูดคงต้องชี้แจงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เสียเวลา คนในกระทรวงเดียวกันแท้ๆทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดก่อน อย่าไปเที่ยววุ่นวายกับคนอื่น และที่ชมรมแพทย์ชนบทเสนอให้ชะลอการสั่งซื้อนั้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมอีโอซีทุกวัน มีอาจารย์แพทย์ มีผู้เชี่ยวชาญ มีคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค มีคณะกรรมการโรคติดต่อ มี ศบค. ทุกอย่างทำด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยทั้งประเทศ ชมรมแพทย์ชนบทส่วนใหญ่ก็เป็นแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อเสนออะไรสามารถบอกกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ผู้ตรวจราชการในฝ่ายที่ตัวเองสังกัดได้ เพื่อนำเสนอเข้าที่ประชุมอีโอซีที่ปลัด สธ.ประชุมเป็นประจำอยู่แล้วต้องมาตามระบบ

ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศปก.ศบค.) ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลถึงกรณีเดียวกันว่า นายกฯมีนโยบายชัดเจนให้พยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด การผ่อนคลายเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ ไปถึงเวลาตี 2 นั้น โรดแมปที่วางไว้คือในรอบ 10 วัน จะประชุมเพื่อประเมินและพิจารณาขยายเพิ่ม อีกไม่กี่วันเราจะเห็นตัวเลขต่างๆ เช่น หากเป็นไปตามนโยบายทั่วประเทศก็อาจจะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวทั้งหมดได้ สถานบริการทั้งหมดที่ตั้งเป้าเอาไว้จะต้องเปิดบริการได้เหมือนภาวะปกติ ภายใต้มาตรการควบคุมโรคเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา ระหว่างจะให้ประชาชนประกอบอาชีพได้เต็มรูปแบบตามที่นายกฯ และรัฐบาลกำหนด กับการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำสอง ส่วนเรื่องการถอดหน้ากากนั้น มีข้อกำหนดเป็นกฎหมายกำกับไว้ เพราะฉะนั้นหากผ่านการพิจารณาจาก ศปก.ศบค. หรือมีข้อเสนอจากส่วนราชการต่างๆแล้วจะต้องเสนอไปยัง ศบค. เพื่อแก้กฎหมาย แก้ข้อกำหนดที่ออกโดย พ.ร.ก. ขณะนี้ข้อกำหนดฉบับที่ 24 กำกับไว้เรื่องหน้ากากอนามัย ใครจะไปสั่งให้ถอดอะไรโดยพลการไม่ได้

 

วันเดียวกัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารว่า มีวาระการประชุม 4 เรื่อง เรื่องแรกโควิด จากการดูตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ อัตราการครองเตียงพบว่าสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งคิดว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว ได้หารือเรื่องการถอดหน้ากาก แต่ต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) พิจารณาก่อนเสนอไปยัง ศบค.ใหญ่ เพื่อให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อแต่ยังไม่มีผู้ป่วยในไทย และเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่มีการรวมตัวกันจนมีหลายคนกังวล ยืนยันว่าการติดต่อคนละรูปแบบกัน อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันมาตรการการป้องกันทั้งหมดอย่างเข้มข้นต่อไป…..

 

ขอขอบคุณ – ไทยรัฐออนไลน์…