วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
ชลบุรีพัทยาสังคมสัตหีบ

กตป.ร่วมกับ กสทช. เปิดเวทีภาคตะวันออกเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะติดตามการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K

​         เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2566 คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโททัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing ) การจ้างที่ปรึกษาเพื่อติดตามและประเมินผลตามนโยบาย กสทช. ที่สำคัญในด้านกิจการโทรทัศน์ประจำปี 2565 การติดตามและประเมินผลการเตรียมการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการ จัดขึ้นที่โรงแรมเดอะ เวย์ พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีผู้ร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน ตัวแทนองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 150 คน

​ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานกล่าวถึงการจัดประชุมครั้งนี้ว่า “ เป็นการติดตามการประเมินผลตามนโยบายของคณะกรรมการที่เห็นสมควรติดตามเมื่อปี พ.ศ.2565 หลังจากที่ได้จัดประชุมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในงานด้านกิจการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตทีวี รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เป็นต้น สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้มุ่งไปที่ทุกภาคส่วน จากตัวแทนองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนสื่อมวลชน ให้เกิดการผลักดันเชิงนโยบายที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของ กสทช. ต่อไปในอนาคต ซึ่งทาง กตป. เองเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึง ประชาชนทั่วไป ผู้ผลิต และผู้ดำเนินงานต่างๆ คิดเห็นต่อการทำงานของ กสทช. อย่างไร รวมถึงข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไข ”

​“ โดยปี 2565 ที่ได้มีการติดตามงานด้วยกัน 2 เรื่อง คือ หนึ่ง การให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องความคมชัดกลายเป็นส่วนสำคัญของการเลือกรับชม ประชาชนมีทางเลือกในการรับชมมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องเลือกทีวีดิจิทัลก็ได้ สำหรับประเทศไทยมีการออนแอร์รายการโทรทัศน์ในระดับความคมชัดสูง ผ่านเคเบิลทีวีมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งหากใครมีโทรทัศน์ระบบ 4K ก็สามารถรับชมได้เลย ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นไปถึง 8K แล้ว ในการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกก็ถ่ายทอด 8K ซึ่งความคมชัดสูงกว่ามาตรฐาน SD ถึง 16 เท่า หรือสูงกว่า 4K ถึง 4 เท่า แต่ประเทศไทยยังติดกับดักการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อนานมาแล้ว ทางผู้ผลิตรายใหญ่ในระบบ SD, HD จะมีปัญหาและทำงานลำบากมาก เพราะต้องถ่าย 2 ระบบ คือ ถ่าย 4K เพื่อออกช่องยูทูป หรือ เน็ตฟิก แต่เวลาออกอากาศยังคงเป็น SD อยู่ จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นของทางเคเบิลว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะรองรับระบบบ้าง, หรือผู้ผลิตมียอดขาย 4K เป็นอย่างไร, ทาง กสทช. มีแผนรองรับการใช้ทีวีในระบบต่างๆ อย่างไรบ้าง จากทีวียุคอนาล็อก สู่สมาร์ททีวี และ สอง การติดตามการใช้งบประมาณของ กทปส. ในปี 2560 – 2565 โดยได้มอบหมายให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา โดยมี ผศ.ดร.สุดาวรรณ สมใจ รับหน้าที่เป็นประธานโครงการ และดำเนินการเก็บรวบรวมวิเคราห์ข้อมูลตามหลักวิชาการ ตามระเบียบวิธีวิจัย มีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์อย่างวันนี้ ” ดร.จินตนันท์ กล่าวเสริม

​ในการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing ) ครั้งนี้ เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี 4K ตลอดจนแนวทางของเทคโนโลยี 4K ที่จะตอบสนองกับทิศทางตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคต ผู้ร่วมประชุมได้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความคิดในแง่มุมต่างๆ ทั้งข้อดีและข้อเสียที่เกี่ยวข้องกับโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 4K

​สำหรับการติดตามประมวลผลอยู่บนพื้นฐานข้อมูลความเป็นจริง เพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ จนนำไปสู่การทำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการ กสทช. โดย กตป. จะส่งเป็นรายไตรมาส ในไตรมาส1 จะส่งประมาณสิ้นเดือนเมษายนนี้ และข้อมูลเหล่านี้เมื่อนำมาเป็นเล่มแล้ว หลังสรุปเรื่องการติดตามประมวลผลกระปฏิบัติงานของ กสทช. และทั้งนโยบาย สรุปเป็นเล่มเดียวตอนปลายปีหรือต้นปีหน้า และนำส่งรัฐสภาตาม พรบ. ต่อไป