วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2024
คอลัมน์

โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (ตอนที่2) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยว และ EEC เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเรือสำราญอย่างไร???

การพัฒนาท่าเรือสำราญได้ถูกขับเคลื่อนโดยยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จากการมีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในหลากหลายมิติ โดยมีประเด็นสำคัญด้านการสร้างความหลากหลายทางการท่องเที่ยวที่เน้นการรักษาการเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก และเพิ่มสัดส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่สร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว แต่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจ และความหลากหลายของการท่องเที่ยวให้สอดรับกับทิศทาง และแนวโน้มของตลาดยุคใหม่ รวมถึงอนุรักษ์ระบบนิเวศ และทรัพยากรที่เอื้อต่อการเติบโตต่อการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาการท่องเที่ยวระยะ 20 ปี โดยวางรากฐานด้านการท่องเที่ยวที่เน้นมาตรฐาน และคุณภาพระดับสากลที่สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว รวมทั้งกระจายการท่องเที่ยว และรายได้สู่ชุมชนตลอดจนการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายมุ่งเน้นปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อสร้างให้ไทยไปสู่การเป็น “Thailand 4.0” และเป็นประเทศที่ก้าวข้ามปัญหากับดักรายได้
ปานกลาง โดยสร้างระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และสร้างความพร้อมให้กับประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลเห็นชอบให้มีโครงการ “การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development: EEC)” เพื่อส่งเสริมให้ 3 จังหวัดภาคตะวันออกของไทย ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียน

การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นหนึ่งแผนงานย่อยภายใต้แผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองสู่การท่องเที่ยวระดับโลกรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และขยายสู่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้นผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

1)   การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูด และจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

2)   แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้สะดวกรวดเร็ว และปลอดภัยรวมทั้งช่วยกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง

3)   แผนการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และครอบคลุมทุกสาขาการท่องเที่ยว

4)   แผนการสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาภาพลักษณ์ และการท่องเที่ยวเสริมสร้างภาพลักษณ์คุณภาพ เเละความปลอดภัยให้กับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของการท่องเที่ยวเมืองพัทยา และมุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าและภาพลักษณ์ของ EEC ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม (Preferred Destination)