โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (ตอนที่ 3) เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาท่าเรือสำราญในประเทศไทย
เหตุผลและความจำเป็นในการพัฒนาท่าเรือสำราญในประเทศไทย
เป็นที่ทราบกันดีว่าการท่องเที่ยวเรือสำราญนั้น สายเรือจะเลือกเส้นทางเดินเรือโดยพิจารณาถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก ตามมาด้วยความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งคมนาคมเชื่อมโยงไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น สนามบิน/ ท่าเรือไปยังโรงแรม หรือเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าท่าเรือสำราญของต่างประเทศส่วนใหญ่ จะมีความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวเรือสำราญ
หากกลับมาดูท่าเรือสำราญในประเทศไทยแล้วกลับมีข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน เช่น ท่าเรืออยู่ในรั้วศุลกากร และอยู่ท่ามกลางท่าเรือสินค้า อาคารผู้โดยสารมีขนาดเล็ก สิ่งอำนวยความสะดวกมีไม่เพียงพอ ความไม่สะดวกในด้านผ่านพิธีการต่างๆ และไม่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ อีกทั้งการคมนาคมเชื่อมโยงจากท่าเรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวเป็นไปได้ยาก รวมทั้งขาดการบริหารจัดการเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากที่มีมาตรฐาน ตลอดจนขาดแคลนเมืองท่าเชื่อมโยงที่มีระยะห่างที่เหมาะสม หากมีการพัฒนาเมืองท่าเชื่อมโยงที่เหมาะสมแล้วจะส่งเสริมศักยภาพของท่าเรือในประเทศไทยเพิ่มมาขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวเรือสำราญของประเทศไม่สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้ อาทิ ท่าเรือสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา ท่าเรือฮาลองเบย์ ประเทศเวียดนาม เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยจะมีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน และพิธีการต่างๆ อยู่มาก แต่ประเทศไทยก็ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของการท่องเที่ยวเรือสำราญ นั่นเพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่กึ่งกลางของทวีป และได้รับผลกระทบจากมรสุมไม่มาก อีกทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ มีความหลากหลายทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดึงดูดให้เรือสำราญนำเรือเข้ามาให้บริการอย่างไม่ขาดสาย และผู้โดยสารต้องการกลับมาท่องเที่ยวซ้ำอีก
ในทางกลับกัน หากประเทศไทยได้พัฒนาท่าเรือสำราญให้มีความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวเรือสำราญในด้านความปลอดภัย และการพัฒนาคมนาคมเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวมีความสะดวกสบายจะส่งผลให้การท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทยมีศักยภาพ และเป็นที่สนใจของสายเรือที่จะนำประเทศไทยบรรจุในเส้นทางการเดินเรือ รวมทั้งผู้โดยสารเรือสำราญมากขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย