โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญ (ตอนที่ 7) การพัฒนาท่าเรือสำราญสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด??? และมีมาตรการป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับชุมชน
การพัฒนาท่าเรือสำราญสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด??? และมีมาตรการป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับชุมชน
การดำเนินงานทุกโครงการจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งการได้รับผลกระทบจะมากน้อยแตกต่างกันไป โดยการพัฒนาท่าเรือสำราญครั้งนี้จำเป็นต้องสำรวจ และประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องกำหนดมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ให้ครอบคลุมปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในทุกๆ ด้านทั้งทางด้านทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าคุณภาพชีวิต
ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการจะแบ่งออกเป็น 2 คือ ระยะก่อสร้างโครงการ และระยะดำเนินการโครงการ หรือระยะเปิดใช้งานโครงการ ซึ่งผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นจะต้องพิจารณาจากการดำเนินกิจกรรมหลักของโครงการ ได้แก่
- ระยะก่อสร้าง อาทิ ผลกระทบจากฝุ่นละออง ควันไอเสีย เสียงดังของเครื่องจักร ความสั่นสะเทือนจากพื้นที่ก่อสร้างโครงการ รวมถึงความปลอดภัยในการทำงานและผลกระทบต่อสุขภาพต่อคนงานก่อสร้าง ผลกระทบด้านการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งบนฝั่งและนอกชายฝั่งอาจจะทำให้การจราจรติดขัด ผลกระทบด้านการสูญเสียโอกาสในการใช้พื้นที่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวไปเพื่อการก่อสร้าง เป็นต้น
- ระยะดำเนินการ อาทิ ผลกระทบด้านการจราจรของรถโดยสารรับส่งนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทำให้การเดินทางไปมาในพื้นที่คล่องตัวน้อยลง ผลกระทบด้านการสูญเสียโอกาสในการใช้พื้นที่ของประชาชน นักท่องเที่ยว ชาวประมง ในส่วนที่เป็นพื้นที่อาคาร ท่าเทียบเรือ และถนนทางเข้าสู่ท่าเรือ และผลกระทบจากขยะ น้ำเสียที่เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงผลกระทบจากคราบน้ำมันเรือ ของเสียจากเรือ เป็นต้น
สำหรับการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือ
- กำหนดให้มีม่านดักตะกอน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของตะกอนแขวนลอย
- การป้องกันอันตรายเขตพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อป้องกันฝุ่น และป้องกันเสียงของเครื่องจักรไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนด
- กำหนดให้มีทุ่นลอยและไฟกระพริบเตือนภัยในเขตก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบของชาวบ้านประมงชายฝั่งผู้ประกอบการฯและนักท่องเที่ยว
- กำหนดช่วงเวลาในการขนส่งของโครงการ เพื่อลดผลกระทบจากการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทั้งบนฝั่งและบริเวณพื้นที่นอกชายฝั่งทะเล
- กำหนดให้มีการปรับปรุงขยายถนนที่ใช้เดินทางมายังท่าเทียบเรือ เพื่อลดผลกระทบการจราจรที่เพิ่มขึ้นในช่วงดำเนินการ
- การจัดการขยะและของเสียที่เกิดขึ้นจากโครงการทั้งระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินโครงการ
การป้องกันผลกระทบและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดจากโครงการนั้น นอกจากการกำหนดมาตรการที่นำไปใช้แล้วยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อให้การปฎิบัติตามมาตรการการติดตามตรวจสอบให้มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพสูงสุดในการนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ