ผวจ.ชลบุรี สั่งการทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ที่มา Bike lane ฉาว
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รีบบัญชานายอำเภอสัตหีบ ที่ดินสัตหีบ และหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ความเดือดร้อนของประชาชน เหตุจังหวัดชลบุรี ใช้งบกรมพลศึกษา 50 ล้าน ทำเส้นทางจักรยานฉาว ยาว 20 กิโลเมตร 244 โค้ง รอบสวนป่าสิริเจริญวรรษ พบครหายังไม่เปิดใช้งาน แต่ของบฯ พัฒนาจังหวัด ซ่อมแซมเส้นทาง 16 ล้านบาท
จากกรณีที่ได้มีประชาชน และนักกีฬาขี่จักรยาน ได้ร้องเรียนกับนักข่าวเฉพาะกิจส่วนกลาง ว่าเส้นทางจักรยานหรือ Bike lane โดยรอบสวนป่าสิริเจริญวรรษความยาว 20 กิโลเมตร ที่ทางจังหวัดชลบุรี ในยุคของนาย คมสัน เอกชัย ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจาก กรมพลศึกษา จำนวน 50 ล้านบาท ตั้งแต่ พ.ศ.2558 เพื่อสร้างเส้นทางจักรยาน ให้กับประชาชนได้ใช้ประโยชน์ สนับสนุนการท่องเที่ยวและการกีฬา
ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานจังหวัดชลบุรี โดยใช้พื้นที่โดยรอบสวนป่าสิริเจริญวรรษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 จังหวัดชลบุรี เป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่และได้มอบหมายให้ นางอำไพ ศักดานุกูลจิต สไลวินสกี้ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชลบุรี ดำเนินการเรื่องการว่าจ้าง บริษัท บางแสนมหานคร จำกัด ที่ประมูลได้งาน ดำเนินการสร้างเส้นทางยาว 20 กิโลเมตร โดยการเบิกจ่ายเงินผ่านคลังจังหวัด โดยตรง
ซึ่งต่อมา ได้มีนักกีฬาปั่นจักรยาน ทั้งในและนอกพื้นที่จำนวนมาก ได้เข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนว่า น่าจะเกิดเกิดความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณในโครงการนี้ อีกทั้งเส้นทางได้เสร็จสิ้นตามสัญญาจ้าง บริษัทฯได้ส่งงานให้กับทางราชการแล้ว แต่เพราะเหตุผลใด จึงไม่เปิดให้ใช้เส้นทางจักรยาน เพียงให้เหตุผลเดียวกับประชาชนคือเส้นทางชำรุดเสียหายหลายจุด เกรงจะเกิดอันตรายกับนักขี่จักรยาน จึงไม่เปิดให้ใช้จนกว่าจะได้รับอนุมัติเงินแผนพัฒนาจังหวัดอีก 16 ล้านบาท มาจ้างงานซ่อมทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว แต่ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะดำเนินการได้เรียบร้อยเมื่อใด อยู่ในดุลยพินิจของ นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัด ว่าจะตัดสินใจให้ดำเนินการอย่างไร
วันที่ 11 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจส่วนกลางรายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้สั่งการให้ นายสุนทร มูเนาวาเราะ นายอำเภอสัตหีบ ดำเนินการเชิญหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาให้ข้อมูล และความเป็นมาเกี่ยวกับโครงการเส้นทางจักรยานนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเส้นทางจักรยาน ตัดผ่านเข้าไปในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก จำนวน 30 ไร่ และยังมีประชาชนอีกหลายรายที่ได้รับความเดือดร้อนในวาระเดียวกัน โดยให้ นายประพันธ์ศักดิ์ ขวัญศรี นายช่างรังวัดชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาสัตหีบ รีบเร่งตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ของประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน เบื้องต้นพบเอกสิทธิ์ น.ส.3 ก. จำนวน 2 แปลง แปลกแรก จำนวน 43 ไร่ 33 ตารางวา และแปลงที่สอง จำนวน 33 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวา รวมทั้งหมด 76 ไร่ ซึ่งเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ได้ออกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 ก่อนที่จะมีการทำเส้นทางจักรยาน ของจังหวัดชลบุรี
ส่วนทางด้าน นายระพิพัฒน์ เกตุกวี อายุ 41 ปี ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจากเจ้าของที่ดินเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก จำนวน 76 ไร่ กล่าวว่า เหตุที่ต้องเป็นตัวแทนประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนออกมาร้องทุกข์กับสื่อมวลชนนั้น ต้องยอมรับว่าระยะเวลาที่ผ่านมาทางเจ้าของที่ดินและประชาชน ยังสับสนและเข้าใจว่าโครงการเส้นทางจักรยาน เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงไม่มีใครกล้าออกมาเรียกร้องสิทธิ์ แต่พอมาทราบภายหลังว่าโครงการนี้ เป็นโครงการที่มาขอใช้พื้นที่สวนป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริเท่านั้น ไม่ใช่โครงการพระราชดำริตามที่เข้าใจกันมาก่อนหน้านี้ และสาเหตุที่ไม่มีใครเข้ามาคัดค้านการก่อสร้างเส้นทางตั้งแต่เริ่มแรก เพราะไม่มีหน่วยงานในพื้นที่แจ้งให้ทราบ พอมาทราบก็มีการสร้างเส้นทางจักรยาน เข้ามาในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จึงออกมาขอเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินกลับคืน
สำหรับ พื้นที่สวนป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ที่ 7 ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 360 ไร่ ติดกับเขตเขาชีโอน วัดญาณสังวรารามวรวิหาร ห่างจากเขาแกะพระใหญ่ประมาณ 1 กิโลเมตร ถนนตัดจากสาย 331- หนองจับเต่า ถ้าเข้ามาจากถนนสายยุทธศาสตร์ 331 จะอยู่ด้านซ้ายมือ มีอาคารรกร้างขนาดใหญ่ ที่สร้างไว้สำหรับเป็นอาคารศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยาน โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขตเทศบาลตำบลเขาชีจรรย์ จะพบประตูเหล็กปิดสนิทจนกุญแจและโซ่เป็นสนิม ซึ่งเป็นทางเข้าไปยังเส้นทางจักรยาน ดังกล่าว…
นิราช ทิพย์ศรี