เมืองพัทยา ผนึกกำลัง อำเภอบางละมุง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาน้ำเสียลงทะเล ยืนยันเป็นน้ำฝนที่ไหลล้นท่อ ระบุน้ำทะเลพัทยายังใสสะอาด ประชาชนและนทท.มาเล่นได้ทุกวัน
วันนี้ (5 ก.พ.67) นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา พร้อมด้วย นายวีกิจ มานะโรจน์กิจ นายอำเภอบางละมุง นายบรรลือ กุลละวณิชย์ ประธานสภาเมืองพัทยา นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา พร้อม นายภูมิพิพัฒน์ กมลนาถ เลขานุการนายกเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง และเจ้าหน้าที่สำนักช่างสุขา เมืองพัทยา ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงสาเหตุน้ำเสียลงทะเล บริเวณชายหาดวงศ์อมาตย์ ซอยนาเกลือ 16 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการบูรณาร่วมกับ อำเภอบางละมุง เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีการปรากฏภาพข่าวเกี่ยวกับมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความกังวล ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เหตุการณืดังกล่าวเกิดขึ้น ในช่วงเวลาฝนตกเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 67 เกิดจากน้ำฝนได้ไหล เข้าสู่ระบบบ่อสูบซอยนาเกลือ 16 ทำให้มีน้ำเจือจางส่วนเกินล้นสันฝายไหลไปตามท่อระบายลงสู่ทะเลในจุด และอีกจุดในตำแหน่งใกล้กันที่แรงดันน้ำได้ดันฝาปิดบ่อพักให้เปิดออกมา ซึ่งในส่วนของลักษณะของน้ำที่ปรากฏไม่ใช่เป็นน้ำเสียสีดำเข้มข้น แต่เป็นเป็นสีครีมขาว อาจเกิดจาการสะสมของตะกอนตกค้าง ที่ไหลรวมกับน้ำฝน
อีกทั้งปัญหาที่ตรวจพบอีกอย่างหนึ่ง คือในฤดูหนาว จะพบทรายเต็มท่อรวบรวมน้ำเสีย ช่วงน้ำทะเลขึ้น ซัดทรายไหลลงท่อ ทำให้ท่ออุดตันน้ำไหลไม่สะดวก เมื่อมีฝนตกทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ไหลอยู่ในเส้น ระบายไม่ทัน ก็จะล้นออกจุดระบายน้ำฝน (บ่อ CSO) ที่ชายหาดท้ายซอยนาเกลือ 16 และท้ายขซอยนาเกลือ 18 บริเวณโขดหิน ซึ่งเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการลอกตะกอนทราย ให้น้ำไหลสะดวก พร้อม ล็อคฝาท่อระบายน้ำให้แน่น ไม่ให้ทรายทะเลไหลลงอุดตันท่อ และไม่ให้แรงดันน้ำตามแนวเส้นท่อดันออกได้ ทั้งนี้ในแนวทางแก้ไขแบบถาวรจะมีการศึกษาออกแบบเพิ่มเติมระบบสูบน้ำฝนออกจากพื้นที่ไปสู่ถนนพัทยานา และปรับปรุงระบบระบายน้ำเสียที่มีสภาพทรุดโทรม ทั้งแนวหาดวงศ์อมาตย์และหาดพิงผา เนื่องจากปัจจุบัน ในพื้นที่มีปริมาณน้ำเสียและน้ำฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบรวบรวมน้ำเสียบริเวณหาดวงศ์อมาตย์มีสภาพเก่า และมีศักยภาพไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ระบบระบายน้ำเสี น้ำฝนมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น รองรับการพัฒนาพื้นที่ต่อไป
นายปรเมศวร์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับระบบรวบรวมน้ำเสียหาดวงศ์อมาตย์ เป็นท่อระบายน้ำเสียไฟเบอร์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร วางตามแนวหาด โดยรวบรวมน้ำเสียจากบริเวณต้นหาดด้านทิศเหนือด้วยแรงโน้มถ่วงมาทางทิศใต้ลงสู่บ่อสูบ ส่ง น้ำเสียซอยนาเกลือ 18 เพื่อสูบส่งน้ำเสียสู่ถนนพัทยานาเกลือ ลงไปตามแนวชายหาดพัทยา สู่บ่อสูบ PS7 บริเวณปากซอย Walking Street ซึ่งระบบรวบรวมน้ำของเมืองพัทยาส่วนใหญ่มักเป็นระบบรวมน้ำเสียร่วมกับ น้ำฝน โดยเมื่อยามฝนตก น้ำฝนจะรวมกับน้ำเสียทำให้เจือจางเมื่อระดับพ้นสันฝายที่กำหนดก็จะปล่อยให้มีการระบายลงทะเล
ด้านนายวีกิจ มานะโรจน์กิจ นายอำเภอบางละมุง กล่าวว่า สำหรับการควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงทะเลของผู้ประกอบการนั้นได้มีการกฎหมายในการควบคุม ซึ่งสถานประกอบการต้องมีการบำบัดน้ำเสียก่อนส่งเข้าสู่ท่อรวม ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ร่วมกับเมืองพัทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เพื่อมาสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ว่าน้ำทะเลของพัทยายังใสสะอาด สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำทะเลได้ทุกวัน ซึ่งจาการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มีการลงในโซเซียลนั้นเกิดจากที่มีฝนตกหนักและมีน้ำทะลักลงสู่ทะเล โดยในเบื้องต้นได้ฝากนายกเมืองพัทยาและทีมเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา หากมีฝนตกหนักลงมาอีกให้ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเหตุการณืที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือน้ำที่ไหลมาจากน้ำฝนไม่ใช้มาจากการปล่อยน้ำเสียของสถานประกอบการต่าง ๆ แต่อย่างใด…….