เริ่มแล้วโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาด
เริ่มแล้วปิดผิวจราจรถนนสายชายหาดฝั่งพัทยาใต้ เร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาด ชาวบ้านบอกมีประโยชน์แต่ประชุมหารือกันบ้างหรือไม่ ทำทั้งระบบไฟฟ้าใต้ดิน การประปา ระบบระ บายน้ำจนมีการปิดการจราจรหลายสายทั่วเมือง ทำการจราจรติดขัดส่งผลกระทบการท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่น
ตามที่เมืองพัทยาได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 95 ล้านบาท เพื่อดำเนินก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมชายหาดพัทยา ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่บริเวณชายหาด โดยว่าจ้าง บริษัทแอล บี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้ามาดำเนินการ โดยมีสัญญาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2562 – 13 กุมภาพันธ์ 2563 รวมระยะเวลา 240 วัน เพื่อก่อสร้างรางระบายน้ำ คสล. ขนาดกว้าง 0.45 เมตรและขนาดกว้าง 0.85 เมตร พร้อมฝาเหล็กหล่อ ความยาวไม่น้อยกว่า 2,700 เมตร และบ่อพักระบายน้ำ คสล. จำนวนไม่น้อยกว่า 85 บ่อ พร้อมก่อสร้างวางท่อ HDPE ขนาด 1,800 มิลลิเมตร ความยาวรวมบ่อพักระบายน้ำไม่น้อยกว่า 1,959 เมตร ก่อสร้างวาง BOX CULVERT ขนาด 1.80 x 1.80 เมตร ความยาวรวมบ่อพักระบายน้ำไม่น้อยกว่า 750 เมตร ก่อสร้างผิวจราจร คสล. ขนาดกว้างประมาณ 1.65 – 2.05 เมตร รวมประมาณ 2,700 เมตร คิดเป็นพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5,212 ตารางเมตร พร้อมก่อสร้างและติดตั้งประตูระบายน้ำพร้อมชุดมอเตอร์เปิดปิดจำนวนไม่น้อยกว่า 2 จุด โดยเริ่มดำเนินก่อสร้างโครงการฯ ตั้งแต่บริเวณโค้งโรงแรมดุสิตธานีพัทยา ตลอดแนวชายหาดพัทยาและสิ้นสุดโครงการฯ ที่ปากทางวอล์คกิ้งสตรีท พัทยาใต้นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบันทางผู้รับเหมาได้ดำเนินการก่อสร้างระบบตามสัญญาแล้ว โดยเริ่มมีการปิดกั้นการจราจรบางส่วน บริเวณปากทางเข้าวอลค์กิ้งสตรีทพัทยาใต้ เพื่อทำการขุดเจาะและวางระบบท่อระบายและบ่อพักน้ำ รวมทั้งสถานีสูบตามแบบที่ได้กำหนด ทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวคับแคบลง โดยเฉพาะในเวลากลางคืนซึ่งพื้นที่นี้จะมีการขนส่งสาธารณะมาจอดรอรับผู้โดยสารเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรติดขัดเป็นทางยาว ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการเริ่มต้นของโครงการและจะมีการขยายไปตามถนนจนถึงแยกโค้งดุสิตรีสอร์ทพัทยาเหนือ ตามระยะเวลาที่กำหนดคือ 240 วัน
มีรายงานเพิ่มเติมว่าจากการที่รัฐบาลได้วางพื้นที่เมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว และจุดศูนย์รวมของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะมีการพัฒนาพื้นที่อย่างมากมายเพื่อรอง รับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีการนำเสนอเมกะโปรเจคมากมายเพื่อจัดนำลงมาในพื้นที่ รวมทั้งได้เร่งอุดหนุนงบประมาณเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากมาเป็นเวลานานหลายด้าน ทั้งระบบสาธารณูป โภค โครงการสายไฟฟ้าลงดิน การจัดทำระบบระบายน้ำ การแก้ไขปัญหาการจราจร กรณีของระบบขนส่งสาธารณะ อย่างระบบรถไฟรางเบาหรือ Tram เพื่อต่อยอดและรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีจุดจอดที่เมืองพัทยา หรือการจัดทำท่าเรือเทอร์มินอลครูซ และพัทยาออนเพียร์ เป็นต้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 ปรากฏว่าที่ผ่านมาเมืองพัทยาได้เร่งดำเนิน การในหลายโครงการ ทำให้มีโครงการการขุดเจาะผิวการจราจร และปิดกั้นทางเดินรถในหลายจุด ส่งผลให้วิถีการดำรงชีวิต และปัญหาการจราจรเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จนมีประชาชนร้องเรียนผ่านมาว่าโครงการเหล่านี้ถือว่ามีประโยชน์แต่ได้มีการประชุมร่วมหารือและวางแผนการปิดผิวจราจรและการจราจรหรือไม่อย่างไร เพราะพบว่ามีการดำเนินการในเกือบทุกพื้นที่แต่ไม่มีแผนรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร…